ประโยชน์ต่อประเทศชาติ

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนของภาครัฐ ซึ่งกิจการโครงสร้างพื้นฐานโดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง การระดมทุนในรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลงทุนในหรือจัดหาประโยชน์จากกิจการโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะ และภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเจ้าของและผู้บริหารกิจการโครงสร้างพื้นฐานอยู่เช่นเดิม ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นการใช้ศักยภาพในการหารายได้และการทำกำไรในอนาคตของกิจการโครงสร้างพื้นฐานมาระดมทุนแทน นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มบทบาทของตลาดทุนในการเป็นช่องทางระดมทุนสำหรับกิจการภาครัฐ และเพิ่มทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจให้กับผู้ลงทุนโดยทั่วไปด้วย

ประโยชน์ต่อภาคเอกชน

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นช่องทางอีกทางเลือกหนึ่งของการระดมทุนภาคเอกชน นอกเหนือจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยบริษัทเอกชนสามารถระดมทุนโดยการนำกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทลงทุน นำมาระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นต่อได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และใช้สินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรของโครงการมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุน

ประโยชน์ต่อนักลงทุน

ผู้ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จะได้รับผลตอบแทนใน 2 รูปแบบ คือ*

  • เงินปันผล (Dividend)
    รายได้ของกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มาจากค่าเช่า ค่าบริการ และอื่น ๆ หักด้วยรายจ่าย เหลือเป็นกำไรที่นำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้จ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว (รายการที่ปรับปรุง คือ กำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealized Gain) จากการประเมินราคาทรัพย์สิน เงินสำรองที่กันไว้เพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือปรับปรุงกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เงินสำรองที่กันไว้เพื่อการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ยืมหรือภาระผูกพันของกองทุนรวมตามนโยบายการกู้ยืมเงิน เป็นต้น) โดย บริษัทจัดการในฐานะผู้จัดการกองทุน จะจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง (อาจกำหนดจ่ายปีละหลายครั้ง เช่น จ่ายทุกไตรมาส (ปีละ 4 ครั้ง) หรือจ่ายทุก 6 เดือน (ปีละ 2 ครั้ง) ก็ได้) ทั้งนี้ กิจการโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการที่กองทุนเข้าลงทุนจะมีผลประกอบการที่ชัดเจนและไม่ค่อยผันผวน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนระยะยาวเพื่อรับเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง
  • กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
    เนื่องจากกองทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับกำไร (หรือ ขาดทุน) จากส่วนต่างราคาที่ซื้อขาย ทั้งนี้ การเพิ่มหรือลดของราคาซื้อขายจะขึ้นกับผลการดำเนินงานของกองทุน และสภาวะตลาดด้วย

*โอกาสของการจ่ายเงินปันผล และโอกาสได้กำไรจากส่วนต่างราคา ขึ้นกับผลการดำเนินงานของกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น ๆ

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย